เปิดความหมายที่มาฉลองพระองค์ พระราชินี ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย ลายสำเภาหลงเกาะ เกล็ดหมี่สีทอง

เปิดความหมายที่มาฉลองพระองค์ พระราชินี ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย ลายสำเภาหลงเกาะ เกล็ดหมี่สีทอง

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา แฟนเพจ We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เปิดเผยถึงที่มาฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ว่า ฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย ลายสำเภาหลงเกาะ สีเขียว เกล็ดหมี่สีทอง ในการเสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

ภาพจาก We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

ครั้งนี้ทรงได้เล็งเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรงเลือกผ้าไหมมัดหมี่อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และทรงเลือกใช้สีเขียวและสีทอง ซึ่งเป็นสีประจำชาติของประเทศออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลียมีสีประจำชาติ คือ สีเขียวเข้มและสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีของดอก Golden Wattle ดอกไม้ประจำชาติออสเตรเลีย ออสเตรเลียประกาศใช้สีเขียวเข้มกับสีเหลืองทอง เป็นสีประจำชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1984 การติดต่อค้าขายในอดีตจะใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ด้วยออสเตรเลียเป็นทวีปที่มีทะเลล้อมรอบ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก โบราณนานมา

มัดหมี่ร่ายลายสำเภาหลงเกาะ เป็นมัดหมี่ลายโบราณ ที่ช่างทอจินตนาการถึงเรือสำเภากางใบพัด แล่นกลางแม่น้ำใหญ่ สำเภายังเปรียบเสมือน ธุรกิจ การค้า การงาน ให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ปราศจากอุปสรรคต่าง ๆ หมี่ร่าย เป็นหนึ่งในเทคนิคมัดหมี่ คือ กระบวนการสร้างลวดลายให้บรรจบกันต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยใช้กรรมวิธีการตั้งแต่การค้นลำหมี่ โดยมีเครื่องค้นหมี่หรือโฮงค้นหมี่ จะมีลักษณะเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 60-80 เซนติเมตร ยาว 1.02 เมตร (ความยาวเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว)

วิธีการค้นหมี่ จะเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้แล้วมามัดกับหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การก่อหมี่ การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบรอบที่ต้องการ จะเรียกแต่ละจำนวนว่าลูก หรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูกเส้นไหมด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง ควรผูกเส้นไหมทุกลูกไว้ด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน ถือเป็นกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ