ช่วยเหลือเกษตรกร ต่อเนื่อง

ช่วยเหลือเกษตรกร ต่อเนื่อง

จากการที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือช่วบเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของ CO VID ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 เมษายน 2563 รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน พ.ค. ถึง ก.ค. 2563 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และลงทะเบียนผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com อย่างต่อเนื่อง ผ่าน ธ.ก.ส. กว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ

ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้ดําเนินการโอนเงินให้เกษตรกรกลุ่มที่ 1 ไปแล้ว 3,722,604 ราย เป็นเงิน 18,613.02 ล้านบาท ขณะที่ เกษตรกรกลุ่มที่ 1 รอบที่ 2 ที่ ธ.ก.ส. ได้รับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นจํานวน 3,519,434 ราย ซึ่งหลังจากได้ทําการตรวจสอบ ความซ้ำซ้อนและคัดกรองสถานะ เหลือผู้มีสิทธิ์จํานวน 3,410,314 ราย โดยจะดําเนินการจ่ายตั้งแต่บัดนี้ ถึง 29 พฤษภาคม 2563

สำหรับความช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากนี้นั้น อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการฟื้นฟูภาคเกษตรจากผลกระทบแล้งและ CO VID ในวงเงินงบประมาณ 9.5 หมื่นล้าน ส่วนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นแผนรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. ขอใช้งบฯ 5.5 หมื่นล้านบาท รองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ช่วงCO VID แพร่กระจาย

โครงการเยียวยาเกษตรกร 95,543.11 ล้านบาทนั้น จะประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณ 2 ส่วนหลัก คือ

งบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตร จากวิกฤต CO VID วงเงิน 61,531.53 ล้านบาท

งบป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท สำหรับ วงเงิน 61,531.53 ล้านบาท แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตร จากวิกฤต CO VID จะแบ่งออกเป็น

การประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 จำนวน 35,196.65 ล้านบาท

สนับสนุนค่าครองชีพให้ครัวเรือน เกษตรกร 15,362.3 ล้านบาท ด้วยการชะลอการขายยางของเกษตรกร

โครงการพัฒนาอาชีพแรงงานคืนถิ่นสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกรอีก 2,763.72 ล้านบาท

โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรจำนวน 392.45 ล้านบาท -การบริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม 1,326 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุน อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้าง เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เป็นต้น

ส่วน โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากซึ่ง ธ.ก.ส. ขอใช้งบ 5.5 หมื่นล้านบาท นั้น อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายว่า โครงการดังกล่าวที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการจะประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชุมชน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพวิสาหกิจชุมชน และโครงการสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจฐานราก

โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชุมชน โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ โครงการ 459 มีกินมีใช้ 1,200 แห่ง จัดสินเชื่อพิเศษสนับสนุน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกว่า 3 แสนราย และสร้างเกษตรคนรุ่นใหม่อีก 5 แสนราย

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน เพิ่ประสิทธิภาพวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน

โครงการสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจฐานราก สร้างหัวขบวนด้านการตลาด บริการทางการเกษตรและท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเป้าหมายสถาบันเกษตรกรกว่า 7,200 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร 1,000 แห่ง วิสาหกิจชุมชนที่พร้อมเป็นหัวขบวน 6,000 แห่ง และลูกค้าเอสเอ็มอี.

โดยใช้งบสนับสนุนสถาบันละไม่เกิน 3 ล้านบาท รวม 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่มีข้อสงสัย หรือคำถามเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเกษตรกรต่างๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.moac.go.th หรือสอบถามโทร. 0 2281 5884

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ