ครั้งแรกในโลก! ยาน Parker Solar Probe ดิ่งสู่ใจกลางโคโรนา ถ่ายภาพพายุสุริยะชนกัน

ครั้งแรกในโลก! ยาน Parker Solar Probe ดิ่งสู่ใจกลางโคโรนา ถ่ายภาพพายุสุริยะชนกัน

NASA สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อ ยาน Parker Solar Probe เดินทางเข้าสู่ระยะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำได้ ด้วยระยะเพียง 3.8 ล้านไมล์ (ประมาณ 6.1 ล้านกิโลเมตร) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2024 พร้อมเก็บข้อมูลสำคัญและถ่ายภาพชั้นบรรยากาศ โคโรนา (Corona) ด้วยความละเอียดใกล้ชิดที่สุดในโลก

ภาพถ่ายชุดใหม่นี้ไม่เพียงเผยให้เห็นความสวยงามของดวงอาทิตย์ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ยังเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษา ลมสุริยะ (Solar Wind) และ พายุสุริยะ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลก เช่น การรบกวนระบบไฟฟ้า ดาวเทียม และระบบการสื่อสาร

นิคกี้ ฟ็อกซ์ ผู้บริหารจาก NASA กล่าวถึงภารกิจนี้ว่า Parker Solar Probe ได้พาเราเข้าไปสัมผัสใจกลางชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นจุดกำเนิดของภัยคุกคามจากอวกาศด้วยตาของเราเอง ไม่ใช่แค่จากแบบจำลองอีกต่อไป

จับภาพการชนกันของ การปลดปล่อยมวลโคโรนา (CME) ครั้งแรกของโลกอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ การบันทึกภาพ Coronal Mass Ejections (CME) หรือ การระเบิดของมวลสารพลังงานขนาดมหึมาจากดวงอาทิตย์ ด้วยความละเอียดสูงเป็นครั้งแรก ซึ่งเผยให้เห็น CME หลายลูกชนกันกลางอวกาศ

แองเจโลส วูลลิดาส นักวิทยาศาสตร์จากทีมกล้อง WISPR เผยว่า CME ที่ชนกันจะเปลี่ยนทิศทางและความเร็ว ทำให้การคาดการณ์ผลกระทบต่อโลกยากขึ้น การได้เห็นปรากฏการณ์นี้จริง ๆ ถือเป็นข้อมูลล้ำค่าสำหรับการเตือนภัยล่วงหน้า

ไขปริศนาต้นกำเนิด ลมสุริยะ ที่คาใจนักวิทยาศาสตร์กว่า 50 ปี เดิมที ยูจีน ปาร์กเกอร์ นักฟิสิกส์ระดับตำนาน ตั้งทฤษฎีเรื่องลมสุริยะในปี 1958 แต่ยังไม่มีใครเข้าใจต้นกำเนิดแน่ชัด จนภารกิจนี้เข้าไปสำรวจถึงแหล่งกำเนิดโดยตรง

ข้อมูลล่าสุดจาก Parker Solar Probe ยืนยันว่าลมสุริยะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ทั้งแบบ ความเร็วสูง และ ความเร็วต่ำ ซึ่งลมสุริยะความเร็วสูงเกิดจากปรากฏการณ์ Switchback หรือการหักเหของสนามแม่เหล็กอย่างกะทันหัน ซึ่งมีมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ขณะที่ลมสุริยะความเร็วต่ำ ซึ่งเคลื่อนที่ช้ากว่าแต่มีความหนาแน่นสูงและแปรปรวน ยังคงเป็นปริศนา โดยยานพบว่า มีอยู่ 2 รูปแบบย่อยที่เชื่อว่ามาจาก รูโคโรนา (Coronal Holes) และ หมวกลม (Helmet Streamers)

ก้าวต่อไปของ Parker Solar ProbeParker Solar Probe ยังไม่หยุดภารกิจ โดยเตรียมโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งในวันที่ 15 กันยายน 2025 เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลมสุริยะความเร็วต่ำ และการปลดปล่อยมวลโคโรนา อดัม ซาโบ นักวิทยาศาสตร์ภารกิจ กล่าวปิดท้ายว่า เรายังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย แต่ข้อมูลที่ได้จากรอบนี้ถือว่าน่าตื่นเต้นและมีค่ามาก การเดินทางสู่ใจกลางระบบสุริยะครั้งนี้ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ