ศาลออกหมายจับผู้นำตาลีบัน ฐานข่มเหงเด็กและสตรี

ศาลออกหมายจับผู้นำตาลีบัน ฐานข่มเหงเด็กและสตรี

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.68 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่กรุงเฮกระบุว่า ออกหมายจับ ไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดกลุ่มตาลีบัน และอับดุล ฮากิม ฮักกานี ผู้พิพากษาสูงสุดอัฟกานิสถาน ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการข่มเหงสตรีและเด็กผู้หญิง ตลอดจนบุคคลอื่นที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของกลุ่มตาลีบันเกี่ยวกับเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ

นับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2564 ในตอนนั้น พวกเขาบังคับใช้ข้อจำกัดมากมาย รวมถึงห้ามเด็กอายุเกิน 12 ปีไม่ให้เข้าถึงการศึกษา และห้ามผู้หญิงไม่ให้ประกอบอาชีพมากมาย นอกจากนั้น พวกเขายังจำกัดระยะทางที่ผู้หญิงสามารถเดินทางคนเดียวโดยไม่มีผู้ชายไปด้วย และห้ามส่งเสียงดังในที่สาธารณะ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ศาลมีการดำเนินคดีในข้อหานี้ตามแถลงการณ์ของ ICC ระบุว่า กลุ่มตาลีบันบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ลิดรอนสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนอัฟกัน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพียงเพราะเพศของพวกเธอ โดยก่อนหน้านี้ สหประชาชาติได้ประเมินมาตรการของตาลีบันว่าเข้าข่าย การเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างเป็นระบบ รัฐบาลตาลีบันเคยระบุว่า พวกเขาเคารพสิทธิ์ของผู้หญิง โดยสอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม ที่เรียกว่า ชาริอะห์ และวัฒนธรรมอัฟกันตามที่พวกเขาตีความ

นายอาคุนด์ซาดา เข้าร่วมในการต่อสู้ต่อต้านการรุกรานของสหภาพโซเวียตในยุค 80 ก่อนขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2556 และเป็นผู้นำอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาเรียกว่า รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ตั้งแต่กองกำลังต่างชาตินำโดยสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนนายฮักกานีเป็นคนสนิทของนายมุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน และเป็นผู้แทนของกลุ่มตาลีบันในการเจรจากับสหรัฐฯ เมื่อปี 2563

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า หมายจับฉบับเต็มและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์เฉพาะที่ศาลใช้เป็นหลักฐานยังคงถูกปิดผนึกเพื่อปกป้องพยานและเหยื่อ

ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้ชื่นชมหมายจับดังกล่าวและเรียกร้องให้ชุมชนระหว่างประเทศสนับสนุนการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ

ส่วนท่าทีของกลุ่มตาลีบันประณามการออกหมายจับดังกล่าว โดยชี้ว่าถือเป็นตัวอย่างของการแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอิสลาม

โฆษกรัฐบาลตาลีบัน กล่าวเพิ่มเติมในแถลงการณ์ว่า กลุ่มตาลีบันไม่ยอมรับศาลอาญาระหว่างประเทศ และถือว่าไม่ได้มีความผูกพันกับศาลนั้นด้วย

นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบัน กลับมามีอำนาจอีกครั้งในปี 2021 กลุ่มดังกล่าวได้ปราบปรามสิทธิสตรี รวมถึงการจำกัดการศึกษา การทำงาน และความเป็นอิสระโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ที่มา BBC

เรียบเรียงโดย มุมข่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ