
แพทย์เตือน! ระวังโรคผื่นกุหลาบ เผยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนถึงโรคผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังมีอาการเฉียบพลัน โดย น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ายังไม่มีสาเหตุแน่ชัด มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส ผื่นกุหลาบมีลักษณะเฉพาะเป็นรูปร่างกลมหรือรี มีการกระจายเป็นแนวตามร่องบนผิว คล้ายลักษณะต้นสน
โรคนี้มักเกิดในคนช่วงอายุ 10-35 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ เป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผื่นจะเกิดอยู่นาน 6 - 8 สัปดาห์ แต่จะหายได้เอง และผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่านั้น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งได้ โดยเฉพาะในช่วง 15 สัปดาห์แรก
ผื่นกุหลาบมักเกิดขึ้นที่ลำตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจพบบริเวณคอหรือที่แขนขาส่วนบนได้ โดยมักจะเกิดนำผื่นอื่น ๆ เป็นชั่วโมงหรือวัน มีลักษณะเป็นผื่นเป็นสีชมพู สีแซลมอนหรือสีน้ำตาล อาจจะมีขอบยกเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2-4 ซม. แต่บางกรณีอาจมีขนาด 1 ซม. หรือใหญ่ถึง 10 ซม.
ตรงกลางของผื่นจะมีขุยขนาดเล็ก ขอบขยายใหญ่ขึ้น อาการของคนไข้ที่นำมาก่อน เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อย อาจพบตุ่มหนองเล็ก ๆ ในช่วงแรกของโรค มักไม่พบผื่นบริเวณหน้า มือและเท้า อาการคันในโรคผื่นกุหลาบพบได้ประมาณ 25%
สำหรับผื่นกุหลาบมักไม่มีอาการแสดง ไม่ทิ้งรอย รักษาตามอาการเป็นหลัก สิ่งที่ช่วยลดอาการคันได้ คือ การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ หรือยากินในกลุ่ม antihistamines แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วงสั้นๆ การฉายแสง UVB (Narrowband or broadband) สามารถช่วยควบคุมโรคได้
โดย น.ส.ศศิกานต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ลักษณะของผื่นกุหลาบนั้นคล้ายผื่นโรคอื่น ๆ อาจสร้างความสับสนเกี่ยวกับอาการทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้
ทั้งนี้หากรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและป้องกัน ควรรีบเข้าพบแพทย์และทำการรักษาโดยทันที
เรียบเรียงโดย มุมข่าว