สทนช. เตือน 20 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 6-12 ก.ค. 68

สทนช. เตือน 20 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 6-12 ก.ค. 68

วันที่ 5 ก.ค. 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 10/2568 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขัง และระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง โดยได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่ามีพื้นที่บางส่วนเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทันและระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 6 - 12 ก.ค. 2568 ดังนี้

1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ดังนี้

1.1 ภาคเหนือ

- จ.เชียงราย (อ.เมืองเชียงราย แม่สาย พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง เชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน)

- จ.น่าน (อ.เมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง ภูเพียง สองแคว เฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ท่าวังผา และเวียงสา)

- จ.พะเยา (อ.เมืองพะเยา ดอกคำใต้ ปง เชียงคำ และเชียงม่วน)

- จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง)

1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

- จ.เลย (อ.เมืองเลย นาด้วง ด่านซ้าย นาแห้ว และปากชม)

- จ.หนองคาย (อ.เมืองหนองคาย โพนพิสัย และรัตนวาปี)

- จ.บึงกาฬ (อ.เมืองบึงกาฬ เซกา บึงโขงหลง และปากคาด)

- จ.อุดรธานี (อ.เมืองอุดรธานี วังสามหมอ เพ็ญ สร้างคอม บ้านดุง และหนองหาน)

- จ.สกลนคร (อ.อากาศอำนวย และสว่างแดนดิน)

- จ.นครพนม (อ.ศรีสงคราม และนาทม)

- จ.ยโสธร (อ.เมืองยโสธร และมหาชนะชัย)

- จ.อุบลราชธานี (อ.โขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร และศรีเมืองใหม่)

1.3 ภาคตะวันออก

- จ.ชลบุรี (อ.บางละมุง และศรีราชา)

- จ.ระยอง (อ.เมืองระยอง บ้านค่าย ปลวกแดง และนิคมพัฒนา)

- จ.จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์)

- จ.ตราด (อ.เมืองตราด เขาสมิง คลองใหญ่ และบ่อไร่)

1.4 ภาคใต้

- จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง สุขสำราญ กะเปอร์ ละอุ่น และกระบุรี)

- จ.พังงา (อ.คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง)

- จ.ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)

- จ.สุราษฎร์ธานี (อ.ชัยบุรี บ้านตาขุน และบ้านนาสาร)

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกักบริเวณ จ.ลำปาง น่าน พิษณุโลก สระบุรี สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และเร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยโทง และอ่างเก็บน้ำห้วยซวง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า จ.กาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จ.ตราด รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำในแหล่งน้ำ ได้แก่ กว๊านพะเยา จ.พะเยา หนองหาร จ.สกลนคร และหนองกุดทิง จ.บึงกาฬ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่

3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิง บริเวณอ.เชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และเชียงของ จ.เชียงราย และแม่น้ำสาย บริเวณอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย

4. เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีปริมาณฝนตกสะสม บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น - ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่ที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ