
มท. มีหนังสือแจ้งทุกอปท. ลบ ชื่อบริษัทผู้ทิ้งงาน ออกจากเว็บไซต์
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ลบรายชื่อบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี “ผู้ทิ้งงาน” ออกจากเว็บไซต์
โดยอ้างการ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นี่คือการกระทำที่ส่งสัญญาณชัดว่า ระบบราชการกำลังเอื้อประโยชน์ให้คนผิดและพยายามลบล้างร่องรอยของความล้มเหลวแทนที่จะเปิดเผยความจริงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
พร้อมเดียวกันนี้ ได้แนบหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องขอความอนุเคราะห์ลบข้อมูลของผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเวียนชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานและเพิกถอนรายชื่นผู้ทิ้งงาน ความว่า
ด้วยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงานแจ้งว่า มีผู้ประกอบการได้ขอให้กรมบัญชีกลางลบชื่อผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเวียนรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคล เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อกรรมการผู้จัดการ ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้ แต่จากการตรวจสอบยังปรากฏรายชื่อและข้อมูลของผู้ประกอบการจากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นลบข้อมูลดังกล่าวหรือดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 6 บัญญัติบทนิยาม “ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ประกอบกับมาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมีให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมได้ โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 หรือ มาตรา 26 และวรรคสอง บัญญัติว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลมาจากการเปิดเผยตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในการขอรับรับข้อมูล ส่วนบุคคลนั้น
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบและสบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแจ้งรายชื่อผู้ทิ้งงานและการเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงานออกจากเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการดำเนินการอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของขัดมูลส่วนบุคลด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และแจ้งให้นายอำเภอ ทุกอำเภอทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ซึ่งมี สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นด้วยว่า อ้างมั่วมากค่ะตอนนี้ กฎหมาย PDPA เขียนข้อยกเว้นชัดอยู่แล้วในมาตรา 24 ว่ากรณีไหนบ้างที่ไม่ต้องขอความยินยอม
(4) เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุม ข้อมูลส่วนบุคคล หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐที่ได้มอบให้แก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
(5) เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
รวมถึง ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร นายกสมาคม TPDPA ที่แสดงความคิดเห็นต่อเนื่องดังกล่าวว่า ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐมีความเข้าใจผิดเรื่อง PDPA นี้สูงมากครับ และเนื่องจากหน่วยงานรัฐต้องปฎิบัติตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 ด้วย จริงๆ การเปิดเผยรายชื่อบุคคลหรือเอกชนที่ทิ้งงาน สามารถดำเนินการได้
โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ 1.กรณีนิติบุคคล ทิ้งงาน มีชื่อนิติบุคคล และเลขประจำตัวนิติบุคคล น่าจะไปเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆได้ 2.กรณีบุคคลธรรมดา ต้องเปิดเผย ข้อมูลชื่อสกุล และเลขประจำตัวบัตรประชาชน เพื่อป้องกันการเปลี่ยนชื่อไปรับงานหน่วยงานรัฐที่อื่น