
เพจวิทยาศาสตร์ เผยงานวิจัย ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำสมองอักเสบ-เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
สำหรับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นปัญหาต้องแก้ไม่ตก ขณะนี้รัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการให้ประชาชน ขึ้นรถไฟฟ้า และรถเมล์ฟรี เป็นเวลา 7 วัน เพื่อลดปัญหาควันที่ได้กลายเป็นฝุ่นพิษที่เกิดจากรถยนต์ ซึ่งนับเป็นต้นตอของฝุ่นพิษในกรุงเทพมหานคร
ล่าสุด เพจด้านวิทยาศาสตร์ Tensia ได้แชร์งานวิจัยของต่างประเทศที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2023 โดยมีรายละเอียดว่า PM2.5 กระตุ้นให้สมองมีการอักเสบเชิงประสาทและสารอนุมูลอิสระมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการกำเริบ/เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น PM2.5 เหมือนก้อนหายนะอะไรบางอย่าง ที่มีสารพัดสารเกาะกันเป็นพวงด้วยแรงดึงดูดระหว่างกัน ลอยไปมาอย่างอิสระ ซึ่งมีตั้งแต่
- โครงคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
- แก๊สอันตราย เช่น NO3- ที่เป็นสารตั้งต้นของสารอนุมูลอิสระ (RNS), CO
- โลหะหนัก เช่น เหล็ก แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท: สามารถเร่งปฏิกิริยา Fenton reaction สร้างสารอนุมูลอิสระตัวรุนแรงชื่อ hydroxyl free radicalได้
ปัญหาหลักของ PM2.5 ที่อันตรายกว่าฝุ่นที่ใหญ่กว่าคือ มันลอยตรงสู่ถุงลมได้เยอะมาก ในขณะที่ฝุ่นอื่น มักจะติดตามเมือกของหลอดลม ไม่ค่อยลงไปลึกกว่านั้น เมื่อถึงถุงลม เม็ดเลือดขาวประจำถุงลมก็ปะทะกับก้อน PM2.5 เปรียบเสมือนเหมือนเจอสิ่งแปลกปลอม จับกินแล้วปล่อยสารก่ออักเสบและสารอนุมุลอิสระไปทั่ว ซึ่งหลายสารก็เข้าเลือด
PM2.5 บางส่วนที่ขนาดก้อนเฉลี่ยอยู่ในกลุ่มเล็กกว่า จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งจะไหลไปกับเลือด
PM2.5 บางส่วนสามารถเดินทางผ่านโพรงจมูก เข้าสู่สมองทางเส้นประสาทดมกลิ่นได้ (Olfactory system) และสุดท้ายคือผ่านมาทางระบบทางเดินอาหาร แล้วเข้าสู่ระบบเลือดที่ผนังลำไส้ในที่สุด
PM2.5 และพร้อมกับสารก่ออักเสบ/อนุมุลอิสระที่มาจากอวัยวะทางเข้าข้างบน ไหลไปก่อเหตุตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมองด้วย
ผลคือทำให้หลอดเลือดสมองมีโครงสร้าง Blood brain barrier แข็งแรงน้อยลง ทำให้สารในเลือดบางส่วน เข้าสู่เนื้อเยื่อในสมองได้ในที่สุด เม็ดเลือดขาวประจำอาณาจักรสมอง (Microglia) ก็จะพบสารเหล่านี้แล้วเข้าจับกิน แต่ก็เหมือนกับเม็ดเลือดขาวที่อื่น นั่นคือต้องเรียกพวกมาช่วยกันจับกิน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะหลั่งสารก่ออักเสบ ปรับแวดล้อม
ทำให้เกิดภาวะอักเสบในสมอง (Neuroinflammation) และสารอนุมูลอิสระในสมองเพิ่มขึ้น (Oxidative stress) ผลนี้แทบจะส่งผลต่อโรคทางสมองหลายโรค ขึ้นกับว่าใครมีปัจจัยทางพันธุกรรม หรือภาวะเสี่ยงที่สมองอยู่แล้ว
อย่างกรณี โรคซึมเศร้า คนที่เป็นอยู่แล้ว หรือมีความเสี่ยง เจอผลพวงจาก PM2.5 เข้าไป ก็กำเริบขึ้นก็มี เพราะสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ เช่น Amygdala และ Brain reward system ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นการที่แบคทีเรียในลำไส้ที่รับ PM2.5 โดยตรงจากเลือด หรือสัมผัสสารก่ออักเสบ/อนุมูลอิสระที่มาทางเลือด จะเริ่มเปลี่ยนแปลงชนิดไปสู่ชนิดที่อันตราย (Dysbiosis) ทำให้สร้างกรดไขมันสายสั้นที่คอยดูแลลำไส้ลดลง สร้างพิษ LPS มากขึ้น ผลคือทำให้สารสื่อประสาท serotonin, GABA และ dopamine ที่ผนังลำไส้คอยหลั่งไป พูดคุยกับสมองผ่านทางปลายประสาท (vagal afferent) ทำได้น้อยลง
ซึ่งสัญญาณเหล่านี้เดิมจะคอยกระตุ้นให้สมองหลายจุดสร้าง serotonin มากขึ้น ดังนั้นผลจากการสมองได้รับสัญญาณน้อยลง ก็สร้าง serotonin ได้น้อยลง กรดอะมิโน Tryptophan ที่แบคทีเรียดีๆ คอยสร้างให้ก็สร้างได้ลดลง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ serotonin
สุดท้ายคือสมองส่วนอารมณ์ไม่ใช่แค่โดนการอักเสบเรื้อรังอย่างเดียว แต่สร้างสารสื่อประสาท serotonin ได้ลดลงด้วย ซึ่งเป็นตัวทำงานหลักเลย ทำให้เพิ่มโอกาสกำเริบของซึมเศร้ามากขึ้นค่ะ
สรุป: PM2.5 สามารถเข้าระบบเลือดได้หลายทาง
- ทางปอด, ระหว่างทางกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหลั่งสารก่ออักเสบด้วย
- ทางจมูก ผ่านประสาทรับกลิ่น
- ทางเดินอาหาร, ระหว่างทางเปลี่ยนชนิดแบคทีเรียในลำไส้ด้วย
ผลคือทำให้สารเหล่านี้เข้าสู่สมอง สมองอักเสบ/สารอนุมูลอิสระมากขึ้น/เปลี่ยนแปลงสารสื่อประสาทโดยเฉพาะ serotonin สุดท้ายจึงทำให้คนที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เป็นมากขึ้นค่ะ
PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่น ไม่ใช่แค่ปอด แต่โดนทั้งร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงโรคซึมเศร้าที่ดูเหมือนไกลตัวด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูล Tensia