ใครกินอยู่เช็กด่วน! นมไม่มีอย. คนขายกรอกใส่ขวดเองกับมือ

ใครกินอยู่เช็กด่วน! นมไม่มีอย. คนขายกรอกใส่ขวดเองกับมือ

วันที่ 24 เม.ย. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนม โดยไม่มีเลขสารบบอาหาร ในพื้นที่ ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการเชิงรุกติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่มีมาตฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนม ยี่ห้อ PON PON ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนพบว่า มีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนมยี่ห้อดังกล่าวผ่านติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาขายเป็นภาษากัมพูชา มีการนำเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต

ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น บ้านพักแห่งหนึ่ง ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดฉลาก ฝาปิด บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยี่ห้อต่างๆ ดังนี้

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสแคนตาลูป

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมข้าวโพด

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมเย็น

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสกาแฟ

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสกาแฟ

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสชานม

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเผือก

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสนมเย็น

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสข้าวโพด

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสแคนตาลูป

- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเต้าฮวย

- ผลิตภัณฑ์น้ำส้ม Orange

- ผลิตภัณฑ์ลูกตาลลอยแก้วแม่กิมไน้

การตรวจค้นครั้งนี้พบว่า โรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต โดยไม่มีการสวมถุงมือ เพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด และพบว่า โรงงานดังกล่าวอาศัยการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อต่างๆ ตามกระแสตลาด ที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามพื้นที่แถบชายแดนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และประเทศกัมพูชา โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

1. ฐาน ผลิต และจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

2. กรณีการนำเลขสารบบอาหารอื่นมาใช้จะเป็นความผิดฐาน ผลิต และจำหน่ายอาหารปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ