
สั่งคุมเข้มสถานบริการ สถานประกอบการ ดูแลความปลอดภัยช่วงสงกรานต์
เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการไปยังทุกจังหวัด เพื่อควบคุมดูแลสถานบริการ สถานประกอบการให้ผู้ใช้บริการ หรือร่วมกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย ซึ่งได้ให้ทุกจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองดำเนินการป้องกัน และเฝ้าระวังมิให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ในกรณีมีเหตุด่วน หรือการกระทำความผิดเกิดขึ้นในสถานที่ ได้กำชับให้ทุกจังหวัด รายงานเหตุการณ์มายังกรมการปกครองทราบโดยเร็ว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนทุกคน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัดกำชับมาตรการรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการจัดงานรื่นเริง หรืองานเทศกาลสำคัญ เพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนนักท่องเที่ยว และผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้แจ้งให้เข้มงวดกวดขันในการดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลสถานบริการสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ และเพื่อให้การควบคุมดูแลสถานบริการ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โรงแรม และสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการ หรือ ร่วมกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวได้รับความปลอดภัย รวมถึงเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิบัติของทุกจังหวัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ ทุกจังหวัดมีดำเนินการควบคุมดูแลสถานบริการ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โรงแรม และสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ1.ให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวด กวดขัน และตรวจตราสถานบริการสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โรงแรม และสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ กฎหมายว่าด้วยโรงแรม กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดการนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ และการก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเสียงแก่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
2.ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทุกแห่ง ตรวจสอบในเรื่องระบบความปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว มิให้มีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ หรือเกิดระเบิดได้ ตลอดจนการตรวจสอบระบบไฟฟ้า และแบ่งพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ให้อยู่ในพื้นที่เปียกน้ำ หรือ ชื้น เพื่อให้มีความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน รวมทั้งควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการให้สัมพันธ์กับประเภทกิจการ เพื่อให้มีการใช้อาคารมีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่แออัดหนาแน่นจนเกินไป
3.ให้นายทะเบียนโรงแรมกำชับให้ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจัดทำบัตรทะเบียนผู้พัก ในทันทีที่มีการเข้าพัก พร้อมส่งสำเนาทะเบียนผู้พัก ในแต่ละวันไปให้นายทะเบียนทุกสัปดาห์ ดูแลไม่ให้บุคคลหลบซ่อน หรือมั่วสุมในเขตโรงแรมในลักษณะอันควรเชื่อว่าจะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง หรือจะมีการกระทำความผิดอาญาขึ้นในโรงแรม ซึ่งหากปรากฏพฤติการณ์ หรือเหตุอันควรสงสัยว่ามีเหตุดังกล่าวให้กำชับผู้ประกอบการ แจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ทราบโดยทันที และแจ้งให้ผู้แจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมบันทึกรายการผู้เข้าพักทุกรายในรูปแบบที่เห็นว่าสะดวก
4.ให้สั่งการให้จังหวัดและอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างและใช้อาคารให้ถูกต้องตามประเภทของอาคารที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งตรวจสอบระบบความปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และ 5.กรณีมีเหตุด่วน หรือการกระทำความผิดเกิดขึ้นในสถานที่ดังกล่าว ให้รายงานเหตุการณ์ เช่น การสรุปเหตุการณ์ในเบื้องต้น ภาพถ่าย เอกสาร พร้อมระบุชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานให้กรมการปกครองทราบโดยเร็ว ทางช่องทางการรายงานของกรมการปกครอง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อนำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน รอยยิ้ม และความสุขของพี่น้องประชาชน และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นดั่งราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดินมีความมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยจิตใจที่รุกรบ มี Passion ความอดทน ทุ่มเท และเสียสละ สำคัญจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล แบบบูรณาการ ซึ่งหมายรวมถึงการดึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมเป็น Partnership ในการเฝ้าดูแลสังคมของเรา โดยสามารถให้ความร่วมมือได้ผ่านการประสานงานมายังผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอในพื้นที่ผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำพื้นที่ หรือ ผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศที่สายด่วน 1567 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยประชาสัมพันธ์เน้นย้ำผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา และผู้ที่มีแผนจะใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นความปลอดภัยปฏิบัติตามกฎหมายและกฎจราจร “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” ขอให้ทุกพื้นที่รณรงค์ส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวเพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางอุบัติเหตุทุกกรณี เพื่อลดอัตราสูญเสียอาจที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และช่วย Change for Good โดยให้มีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี