
อัพเดทเส้นทางพายุไต้ฝุ่น ทกซูรี กำลังเคลื่อนตัวจ่อขึ้นฝั่ง
วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 26 - 27 ก.ค. 66 หลังจากนั้นจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 28-29 ก.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "ทกซูรี (DOKSURI)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) เวลา 04.00น. (25/7/66) พายุนี้ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนและเคลื่อนตัวเข้าใกล้ทางตอนใต้เกาะไต้หวัน และจะขึ้นฝั่งที่ประเทศจีน ในช่วง 26-28 ก.ค.66 เตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน (ตอนใต้และด้านตะวันออก) ให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
เนื่องจากจะมีอากาศแปรปรวนในช่วงที่พายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่ง พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น ช่วงที่พายุเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน อาจจะทำให้ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงบ้าง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมทั้งในระดับบนๆ จะเป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือพัดเอาความชื้นไปหล่อเลี้ยงพายุ
เรียบเรียง มุมข่าว