กรมอุตุฯ เผยเส้นทาง ฤดูฝน ถล่มไทย พื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือ

กรมอุตุฯ เผยเส้นทาง ฤดูฝน ถล่มไทย พื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือ

วันที่ 28 พ.ค. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 28 พ.ค.-6 มิ.ย.66 อัพเดท 2023052712 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)

ช่วงวันที่ 28 - 30 พ.ค.66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมประเทศไทย เริ่มแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีเมฆมาก มีฝน/ฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ฝนที่เกิดขึ้นในระยะนี้ยังเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากประเทศไทยยังมีอากาศร้อนตอนกลางวัน ต้องระวัง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ส่วนการกระจายและปริมาณของฝนอาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และตกไม่สม่ำเสมอ ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีตกหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑลในช่วงดังกล่าว

ส่วน ช่วง 31 พ.ค.- 6 มิ.ย.66 ยังมีฝนต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม เกิดขึ้นได้ช่วงบ่าย-ค่ำ บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ฝนลดลงบ้าง ช่วงแรก และจะกลับมาเพิ่มขึ้นปลายช่วง (1- 6 มิ.ย.66) สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม มีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ห่างฝั่งคลื่นสูง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง

สำหรับพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ (ห่างจากเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ 695 กม.) คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้บริเวณหัวเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปินส์ หลังจากนั้นเคลื่อนที่โค้งกลับไปทางทิศเหนือ ราววันที่ 28 -30 พ.ค.66 พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพียงแต่จะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น

เรียบเรียง มุมข่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ