
เปิดภาพถ่ายดาวเทียม กลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง อากาศแปรปรวน
วันที่ 27 เมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 2 ระบุว่า ในวันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทภาพเคลื่อนไหว พยากรณ์ฝนทุกๆ 3 ชม. ลมผิวพื้น (สูงจากพื้นดิน 10ม.) ลมใกล้ผิวพื้นที่ระดับ 925hPa (สูงจากพื้นดินประมาณ 600ม.) และลมที่ระดับ 500hPa (สูงจากพื้นดินประมาณ 5.5 กม.) จาก ECMWF init.2023042712 :วันนี้ (28 เม.ย.66) คาดว่าจะยังมีพายุฤดูร้อน (ฝนฟ้าคะนอง) เกิดขึ้นบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน
ทิศทางลมยังแปรปรวนในระยะนี้ ฝนน่าจะพอช่วยคลายร้อนได้บ้าง รวมทั้งแนวโน้มของฝุ่นน่าจะสะสมน้อยลง แต่ช่วง 29 เม.ย.-1 พ.ค.66 ต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนอีกครั้ง บริเวณประเทศไทยตอนบน จะเริ่มทางภาคอีสานก่อน ส่วนภาคใต้จะเริ่มมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรงขึ้น ช่วงวันที่ 1-3 พ.ค.66 เดินเรือด้วยความระมัดระวัง
และมีภาพถ่ายดาวเทียมแบบเคลื่อนไหว เช้าวันนี้ (28/4/66) : เมฆฝนส่วนใหญ่ปกคลุมในทะเลอันดามัน และในอ่าวไทย
เรียบเรียง มุมข่าว