
อีสาน-ตะวันออก จ่อรับมือ พายุฤดูร้อน 15 เม.ย. ชุ่มฉ่ำรับสงกรานต์
กรมอุตุฯ ออกประกาศ พยากรณ์อากาศรายภาคของประเทศไทย พร้อมแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณประเทศไทย ประจำวันที่ 15 เมษายน 2566 รอบเวลา 05.00 น.
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (15 เม.ย. 66): บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และทะเลจีนใต้ในวันนี้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 15 - 16 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17 – 21 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้
ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง
ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 16 เม.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (14 - 15 เม.ย. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 2.2, 2.9, 2.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศลาว ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15-24 เม.ย.66 อัพเดท 2023041412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
วันนี้แล้ว (15/4/66) มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกกของภาคอีสาน ทำให้มีอากาศแปรปรวน โดยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น เริ่มทางภาคอีสานด้านตะวันออก อีสานตอนล่าง และภาคตะวันออกก่อน ในช่วงเย็นถึงค่ำวันนี้
ส่วนภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนอากาศยังร้อนถึงร้อนจัดบริเวณเนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ในขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังมีพายุฝนฟ้าคะนอง ต้องระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บ ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดด้วย
และช่วงวันที่ 17-22 เม.ย.66 ยังมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เนื่องจากลมตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือกลับมาพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ คลื่นลมไม่แรง ระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ดังนั้นในระยะ 1-2 วันนี้ ประเทศไทยตอนบนต้องเฝ้าระวังติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)
เรียบเรียงโดย มุมข่าว