วิเคราะห์เศรษฐกิจ วิกฤตรอบนี้อาจหนักกว่าต้มยำกุ้ง

วิเคราะห์เศรษฐกิจ วิกฤตรอบนี้อาจหนักกว่าต้มยำกุ้ง

เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้หลายๆฝ่ายต่างได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะประชาชน ผู้ค้ารายย่อย และนายทุนต่างๆ ซึ่งในวันนี้ทางทีมงานได้นำบทวิเคราห์เศรษฐกิจของผู้ใช้เฟซบุ๊คท่านหนึ่ง ใช้ชื่อว่า Chutima Pukbanyang ได้โพสต์ข้อความวิเคราะห์ข้างต้นใจความว่า

วิกฤตรอบนี้อาจหนักกว่าต้มยำกุ้ง บทความนี้น่าจะเป็นบทความสุดท้ายของปีนี้แล้วที่เคทจะวิเคราะห์เศรษฐกิจ จากข้อมูลทุกด้านที่เคทถืออยู่ และการผ่านเสวนาทั้งในกลุ่มนักลงทุน และนักธุรกิจหลายสาย ข้อมูลชี้ชัดว่า ภายใน2 ปี เรามีโอกาสสูงที่จะได้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าต้มยำกุ้ง หรือถ้าโชคดีก็จะอยู่ในภาวะซบเซาขั้นรุนแรง ซึ่งรอบนี้จะกินเวลานานหลายปี

ปัจจัยที่เห็นได้ชัดคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ล่าสุด (ลดเหลือ1.5%ต่อปี) ซึ่งสะท้อนว่าต้องการกำลังขยายตัวของภาคธุรกิจสูงมาก ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ภาคธุรกิจต้องขยายตัว และgdp ก็จะเติบโตสอดคล้องกัน แต่ เมื่อดูตัวเลขทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวรวมถึงหนี้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล คำถามคือ ใครจะกู้ตังค์ไปลงทุนในสภาวะการณ์แบบนี้

ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แจ้งว่าการส่งออกนับจาก ม.ค.-ส.ค. ไทยเราส่งออกรวมมูลค่า 166,091 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และคิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 5,206,697 ล้านบาท หดตัว 3.7% การนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 5,089,258 ล้านบาท หดตัว 5.0% ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.- ส.ค. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,106 ล้านดอลลาร์และ 117,439 ล้านบาท คือการเกินดุลเป็นเรื่องปกติของเรา แต่เวลานี้ เราเกินดุลมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรเป็นค่ะ เราเกินดุลเข้าสู่ปีที่ 5 ติดต่อกัน

การเกินดุลการค้า สะท้อนอะไร สะท้อนว่า การบริโภค และการเติบโตภายในประเทศเราชะลอตัวหรือต่ำลงค่ะ ปัญหาต่อมาก็คือ จะทำให้เงินแข็งค่าขึ้น เมื่อแข็งค่ามาก การส่งออกก็จะยิ่งหดตัวลง (ถ้าคู่แข่งอ่อนค่าเรายิ่งเสียเปรียบทางการตลาด อันนี้อันตรายมาก เพราะเปิดโอกาสให้ลูกค้าใช้บริการคู่แข่ง ถ้าเขาชอบสินค้าและบริการคู่แข่ง จบเกมเลย)

แต่แทนที่เงินแข็งค่าเราจะได้เปรียบในการนำเข้า แต่ตัวเลขการนำเข้ากลับไม่สะท้อนการเติบโตเลย เนี่ยแหละค่ะปัญหา จากประมาณการอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีในปีนี้ที่ 4% เมื่อต้นปี ลดลง มา 3.3% ล่าสุดเหลือ 2.8% คือมันต่ำมากค่ะ และปีหน้าอาจจะไม่เติบโตด้วย การที่จีดีพีโตขึ้นเป็นเรื่องปกตินะคะ แต่ถ้าโตต่ำหรือไม่โตเนี่ยเป็นปัญหา จะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ

ร้านสะดวกซื้อ ตั้งเป้ารายได้ขั้นต่ำที่โต 7% ถ้าเรามองดูก็เหมือนยากมากที่จะหาลูกค้าจากไหนมาซื้อของเพิ่มยอดขายให้ได้ ระดับนั้น เพราะคนก็เท่าเดิม ฐานลูกค้าเท่าเดิม เมืองไม่ได้ขยายขึ้น ดูจะเป็นโจทย์ยาก แต่มันโตได้ง่ายๆเลย เพราะเขาแค่ปรับราคาสินค้าค่ะ ปรับขึ้น 7-10% ปรับราคาเรตนี้ลูกค้าไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงค่ะ เช่น เมื่อวานซื้อนมกล่อง 11 บาท วันนี้ขาย 12 บาท อันนี้คือกลยุทธ์ง่ายๆที่เขาทำกัน

มันจึงทำให้รายได้ของร้านสะดวกซื้อโตขึ้น 7% ง่ายๆ แต่โตแบบกลวงๆ ทีนี้ถ้ามันโตไม่ถึงเป้า ก็แสดงว่ากำลังซื้อหดตัวลงค่ะ ก็เหมือน gdp ประเทศ เมื่อภาษีเพิ่ม ค่าแรงเพิ่ม เศรษฐกิจขยายตัว gdp ก็ต้องเพิ่มตาม แต่ถ้ามันเพิ่มไม่สอดคล้องกันก็แสดงว่ามันมีปัญหา

ปัญหาสงครามการค้า ยอดการผลิตและการส่งออกที่ลดลง ภาคการท่องเที่ยวที่โตต่ำ จากการแข็งค่าเงินส่งผลให้รายได้และการจ้างงานลดลง กดดันภาคครัวเรือนให้บริโภคน้อยลงใช้จ่ายน้อยลง (หนี้ครัวเรือนที่ระดับสูงก็ยิ่งชำระยากขึ้นและอาจกลายเป็น npl) พอการจับจ่ายน้อยภาคธุรกิจก็ต้องปิดตัวลง เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น และสังคมสูงอายุที่กำลังจะมาถึง ปัจจัยเหล่านี้กดดันการเติบโตของประเทศค่ะ

และเมื่อหันมามองรัฐบาลเราเห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมสุดๆ (คิดค้นแอพขึ้นมาเพื่อสะดวกต่อการจ่ายเงิน เมื่อคุณมีแอพเป๋าตังค์ประชานิยมเฟสหน้าเบิกจ่ายง่ายเลย แล้วเมื่อมันง่ายคุณก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับมันหรอก และต่อให้คุณไม่ใช้เงินตรงนี้เงินมันก็หายไปอยู่ดี) ถ้ารอบนี้เกิดวิกฤตการเมือง การเมืองไม่นิ่ง เราจะล้มเร็วมากและนานกว่าทุกรอบ เพราะปี 40 ต้มยำกุ้งรายใหญ่ล้ม แต่ระดับกลางถึงล่างยังยืนได้ แต่รอบนี้ระดับกลางถึงล่างจะไปก่อนเพื่อนค่ะ และนี่คือฐานเศรษฐกิจที่สำคัญที่ห้ามล้มเด็ดขาด ดูตัวอย่างของ วิกฤตเบอร์เกอร์ไว้ค่ะ

สิ่งที่รัฐต้องทำอย่างแรกเลยคือ ทำให้ค่าเงินอ่อนลงเร็วที่สุด เพื่อขับเคลื่อนการส่งออก เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ เร่งพลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้ไวที่สุด(เราช้ามา5ปีละ) พัฒนาศักยภาพแรงงานทุกด้าน ฝีมือ สุขภาพ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ ปรับกระบวนทัศน์การศึกษา วิชาโบราณ หรือขายฝันต้องคุมเข้ม อุดหนุนงบการศึกษาและวิจัยให้มากขึ้นให้เข้ากับยุค 4.0 รองรับการก้าวสู่สังคมสูงอายุ

วันนี้พอแค่นี้ค่ะ บทความหน้าถ้ามีเวลาจะมาต่อภาคตลาดหุ้น อ่านเกมเจ้าสัวเจริญเหตุใดถึงเอาอภิมหาหุ้น AWC เข้าตลาด สะท้อนภาพของเศรษฐกิจไทยยังไง มิ้วๆนะ แนะนำให้อ่านอีกบทความปัญหาหนี้ครัวเรือนและสังคมสูงอายุประกอบนะคะ

ที่มา Chutima Pukbanyang

เรียบเรียง มุมข่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ