บิ๊กต่อ แถลง จนท.รัฐยศใหญ่ ขายข้อมูลคนไทยกว่า 1,000 คน ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายได้มหาศาล

บิ๊กต่อ แถลง จนท.รัฐยศใหญ่ ขายข้อมูลคนไทยกว่า 1,000 คน ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายได้มหาศาล

วันที่ 28 ต.ค. 65 มีรายงานว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต. วริศร์สิริภ์ ลีละสิริ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองผบก.สอท.1 ร่วมกันเปิดเผยกรณีตรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยได้มีการจับดำเนินคดีไปแล้ว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า จากปฏิบัติการ เด็ดปีกมังกร จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของทาง บช.สอท. สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย เป็นกลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า 8 ราย กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย และกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอก 2 ราย

โดยระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอก 2 รายดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้าบัญชีของเจ้าที่รัฐทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทำมานานพอสมควร โดยมีข้อมูลของคนไทยถูกฉกไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 1,000 ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย อยู่ในส่วนงานที่สามารถดูฐานข้อมูลของผู้เสียหายได้

เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับ รายแรก เป็นตำรวจ ยศ พ.ต.ท. พฤติการณ์ คือจะเข้ารหัสไปกดดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหาย โดยพบว่าเข้าไปกดดูมากจนนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนรายที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ของกระทรวงแห่งหนึ่งจะเข้าระบบไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้า หรือตราธุรกิจของผู้เสียหาย ไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

โดยจะดูข้อมูลว่ารายใดรวย มีทุนจดทะเบียนทางธุรกิจด้วยเงินจำนวนมากแล้วจึงนำค่อยนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทั้ง 2 ราย จะมีรายได้จากการ ขายข้อมูลคนไทยด้วยกัน ให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท ซึ่งทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้า เข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจตรวจสอบ และนำไปสู่การจับดังกล่าว

สำหรับผู้เสียหายรายล่าสุด ที่ถูกฉกข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปขาย ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นหมอ อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำปลอมเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้วโทรแจ้งผู้เสียหายว่าทำความผิดคดีอาญาจะต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี พร้อมส่งหมายจับปลอมที่มีภาพใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจให้ผู้เสียหายดู ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีมาจำนวนกว่า 6,970,000 บาทก่อนจะมารู้ภายหลังว่าถูกหลอกแจ้งความออนไลน์เมื่อ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ขอฝากเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปได้ อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยที่มีคนนำมามอบให้ เพื่อแลกกับข้อมูลที่ท่านสามารถเข้าถึงได้และไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของท่าน เพราะหากตรวจพบว่าข้อมูลนั้นถูกกลุ่มคนร้ายนำไปใช้ประโยชน์ท่านก็จะถูกจับดำเนินคดี และมีโทษตามกฎหมายที่หนักมากยิ่งขึ้นกว่าคนทั่วไป

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ