น้ำท่วม 3 หมู่บ้าน หวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว

น้ำท่วม 3 หมู่บ้าน หวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว

วันที่ 26 พ.ค. 65 มีรายงานว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย สมพงษ์ หอมสนิท นายอำเภอโนนสูง นายไพรัตน์ วิทยาอนุมาส นายอำเภอโนนไทย นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อํานวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา

นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และ นายก อบต.จันอัด นายก อบต.ด่านคล้า นายก อบต.เมืองปราสาท อ.โนนสูง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ไหลเอ่อจากลำห้วยลำเชียงไกรไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร กว่า 1,000 ไร่ เสียหาย

รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ม.1 บ้านสำโรง ม.5 บ้านด่านติง และ ม.8 บ้านโค้งกะพี้ ต.จันอัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา พร้อมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือสถานน้ำในช่วงหน้าฝนที่จะถึงนี้

นายวิเชียร เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่จ.นครราชสีมา ทำให้เกิดเป็นน้ำฝนตกสะสม จากพื้นที่ อ.ขามทะเลสอ ได้ไหลหลากเข้าพื้นที่บริเวณบึงขี้นาค ต.โคกสูง อ.เมือง และ ต.กำปัง อ.โนนไทย และไหลลงลำเชียงไกร

รวมกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจาก ลำวังกระทะ ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ทำให้น้ำมวลดังกล่าวได้ไหลมายังพื้นที่ ต.กำปัง อ.โนนไทย ท่วมพื้นที่การเกษตร กว่า 8,000 ไร่ และ บ้านเรือนประชาชน 25 หลังคาเรือน

เมื่อไหลผ่านพื้นที่ ต.กำปังแล้ว น้ำก็ได้ไหลต่อมายังพื้นที่ อ.โนนสูง เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร กว่า 1,000 ไร่ และบ้านเรือนประชาชน ใน 3 หมู่บ้าน ของ ต.จันอัด อ.โนนสูง

ส่วนสาเหตุที่น้ำเอ่อออกจากลำห้วยลำเชียงไกรไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.โนนสูงนั้น เกิดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ ฝายเก่า ประตูระบายน้ำเก่า ที่กีดขวาง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปตามระบบในลำห้วยได้ดี กว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้น้ำได้เอ่อ หรือแตกกระจายออกด้านข้าง ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ ช่วงที่ผ่านมาฝนอาจจะตกหนัก แต่ตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ยังสามารถทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง รวมกว่า 10,000 ไร่ ได้

หากถึงช่วงฤดูฝนจริง จะก่อให้เกิดความเสียหายได้มากกว่านี้แน่นอน ดังนั้น แนวทางในการป้องกันเฉพาะหน้าได้ให้ทุกพื้นที่แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนตามลำห้วย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ รวมทั้งสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ จะต้องเร่งรื้อถอนโดยเร็ว เพื่อเปิดทางน้ำรับช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง

ส่วนตลิ่งพื้นที่ใดพังชำรุดต้องเร่งซ่อมแซม เพื่อไม่ไห้น้ำไหลออกนอกลำห้วย หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขกังวลว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะหนักเหมือนปี 2564 ที่ผ่านมา นายวิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นกำลังใจให้ทุกพื้นที่ ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วยนะคะ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ