ร้านหมูกระทะ ขายยังไงถึงโดนรัฐเรียกเงินคืน

ร้านหมูกระทะ ขายยังไงถึงโดนรัฐเรียกเงินคืน

จากกรณีเจ้าของร้านหมูกระทะโดนเรียกเงินคืน 17 ล้าน ล่าสุด เจ้าของร้านเปิดใจ ขายของยังไงให้โดนรัฐเรียกเงินคืน 17 ล้าน ชี้ มีลูกค้ากว่า 40,000 คน กับ 3 สาขา โอด โดนเรียกเงินมากกว่าทุนร้านอีก ขณะเดียวกันก็ไขข้อข้องใจ ขายของยังไงให้ห่างได้ 7,000 กิโลเมตร ทั้งที่ประเทศไทยไกลสุดแค่ 2,000 กิโลเมตร

ล่าสุด วันที่ 13 ตุลาคม 2564 เฟซบุ๊ก EasyYukhon มีการโพสต์คลิปบรรดาร้านค้ารวมตัวที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ถ.พิษณุโลก เพื่อโวยการเรียกเงินคืนของทางรัฐ พร้อมสัมภาษณ์เปิดใจบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการ ทุกคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ารู้แบบนี้คงไม่เข้าร่วมโครงการแน่

พ่อค้าโดนเรียก 17 ล้านเปิดใจ เกินทุนไปเยอะ

ขณะเดียวกัน ร้านที่โดนเรียกเงินคืนไป 17 ล้านบาท ก็มาร่วมร้องเรียนด้วย เปิดเผยว่า ตนทำธุรกิจเป็นร้านขายหมูกระทะอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามมา 12 ปี มี 3 สาขา สาเหตุที่โดนคือ มีการสแกนข้ามเขตจังหวัด มีลูกค้าเป็นนักศึกษา 40,000 คนจากหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการสแกนที่มากเกินไป มียอดเงินมากเกินไป จึงกลายเป็นจุดบอด ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า เรามีการค้าขายจริง ลูกค้าได้ของจริง ยอมรับว่ามีการจ่ายเงินผ่านแอปฯ แล้วมีการทอนเงินคืนกลับไป เพื่อให้นำเงินไปใช้อย่างอื่นได้ แต่ก็มีเงื่อนไขคือ ต้องซื้อของจากร้านเราก่อนเท่านั้น

ในส่วนของเงินที่เรียกมาถึง 17 ล้าน มันมากกว่าเงินทุนของร้านอีก ซึ่งเมื่อโดนขนาดนี้ ทางร้านต้องสู้เต็มที่ ไม่มีทางเลือกแล้ว เหลือกำไรแค่นิดหน่อย ยังไงก็ต้องสู้ ส่วนหลักฐานที่จะนำไปสู้ ยอมรับว่าไม่มี เนื่องจากตนสั่งของมาจากมหาชัย แต่ไม่ได้เก็บบิลเอาไว้ ไม่คิดว่าจะเจอเรื่องแบบนี้ นอกจากนี้ สิ่งที่ตนโดนถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะระเบียบที่เขียนออกมากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะการล็อกดาวน์ ร้านจึงต้องแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า ในสัญญาก็ไม่มีการบอกว่า ผิดกฎจะยึดเงินคืน และร้านตนก็ไม่มีการโกง ทุกคนได้ของจากร้านครบ

ขณะที่แม่ค้าอีกราย ก็เดินทางมาจาก จ.สงขลาเพื่อมาร้องเรียน เปิดเผยว่า ปกติขายของตามตลาดต่าง ๆ แต่เมื่อเกิด CV19 ทำให้ตลาดต้องปิด ตนจึงย้ายมาขายหน้าบ้านแทน และแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปิดให้สแกนออนไลน์ไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงถูกตั้งข้อหาผิดกฎเรื่องสแกนระยะทางเกิน 7,000 กิโลเมตร โดนเรียกเงินคืนยอดทั้งหมดที่สแกน จำนวน 1.4 ล้านบาท เรื่องนี้ทำให้เครียดมาหลายวันมาก ตอนนี้เขียนใบคำร้องอุทธรณ์เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังมีแม่ค้าอีกรายหนึ่ง ที่โดนเหตุผลเรื่องสแกนเกินระยะทาง 7,000 กิโลเมตร เช่นกัน เธอโพสต์ว่า ร้านเธอมีหลายสาขาทั่วประเทศ พอมียอดสแกนเกิน 7,000 กิโลเมตรต่อวัน จึงถูกระงับโครงการเราชนะ ตอนนี้ทำหนังสือชี้แจงแล้ว ร้านเสียหายมาก เพราะถูกระงับโครงการเป็นเดือน ทำให้ไม่มีรายได้อะไรเลย ไขข้อข้องใจ เหนือใต้ไทยห่างสุดแค่ 2,000 กม. แล้วระยะทาง 7,000 กม. มาจากไหน ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายหนึ่ง ก็ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจากเหนือสุดไปใต้สุด มีระยะทางที่ 2,000 กิโลเมตร แล้วการสแกนระยะทางเกิน 7,000 กิโลเมตรระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือ เป็นการคิดระยะทางแบบหลายคนรวมกันนั่นเอง

ส่วนวิธีการที่ทำให้ผิดกฎ ทางผู้ค้าอาจจะใช้วิธีขายออนไลน์ เพราะสถานการณ์ CV19 ไม่เอื้อให้ขายแบบเปิดร้าน แล้วส่ง QR Code ของโครงการเราชนะผ่านตัวแชตเพื่อให้ลูกค้าสแกน ซึ่งลูกค้าอาจจะอยู่ไกลคนละพื้นที่ พอมาเช็กระยะทางสะสม พอเกิน 7,000 กิโลเมตร ทางระบบจึงมองว่าผิดกฎทันที และส่งหนังสือเรียกเงินคืน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ